วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรมปศุสัตว์คุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั่วประเทศ

อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทุกพื้นที่ ยืนยันไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย พร้อมแนะเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีก จัดเล้า โรงเรือนสามารถป้องกันแดด ลม ฝน ตลอดจนพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทุกพื้นที่ ยืนยันไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย พร้อมแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีฝนตกชุก ทำให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดลงอันอาจเป็นผลให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงโรคไข้หวัดนกได้ง่ายขึ้น ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝนลมและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยต่ออีกว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเม็กซิโก จีน และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศอินโดนีเซีย นั้น กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์ภาวะโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมีการเฝ้าระวังค้นหาโรคในประเทศไทย โดยตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกผู้เลี้ยงสัตว์ทุกครัวเรือน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 นี้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ตั้งแต่มกราคม 2555 ปัจจุบัน มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกจำนวน 12 ประเทศ คือ เนปาล เวียดนาม ไต้หวัน กัมพูชา จีน บังคลาเทศ พม่า ภูฐาน อินเดีย อิสราเอล แอฟริกา และเม็กซิโก สำหรับการเกิดโรคในคนมีรายงานการพบผู้ป่วยด้วย โรคไข้หวัดนกจำนวน 6 ประเทศ คือ เวียดนาม กัมพูชา จีน บังคลาเทศ อียิปต์ และอินโดนีเซียซึ่งพบผู้ป่วยรายล่าสุด สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในประเทศไทยปัจจุบันไม่มีการเกิดโรคไข้หวัดนก เป็นเวลามากกว่า 3 ปี 7 เดือนแล้วนับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังไม่ให้เชื้อโรคไข้หวัดนกเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยดังนี้
1. กำหนดให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการ (x-ray) ปีละ 2 ครั้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองในส่วนท้องถิ่น ในการลงพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกครัวเรือน พร้อมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระสัตว์ปีก(cloacal swab) ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยปัจจุบันมีการดำเนินงานอยู่ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2555 นี้ ทั้งนี้หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจะทำลายโดยวิธีการฝังหรือเผาทันทีโดยไม่ต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. กำหนดให้มีการทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคมของทุกปี โดยเน้นในการดำเนินงานในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่แนวชายแดนโรงฆ่าสัตว์ปีกเป็นต้น
3. ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกระหว่างจังหวัด และระหว่างโซน ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 5 โซน มีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด
4. ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแนวชายแดน เช่น ศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น ตรวจสอบ ตรวจค้นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียดว่ามีการลักลอบนำสัตว์ปีก หรือซากสัตว์ปีกเข้าราชอาณาจักรหรือไม่ หากพบการกระทำผิดให้จับกุมดำเนินคดี ยึดของกลางเพื่อตรวจพิสูจน์ หากพบว่า เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาดให้ทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ต่อไป นอกจากนี้ให้มีการ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือ รถเข็น ตลอดจนการเดินเท้าเข้ามาภายในประเทศ
5. พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในรูปแบบฟาร์มปิดและฟาร์มมาตรฐาน ฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. ปรับระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและสัตว์ปีกที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน (Back yard) ให้มีเล้าหรือโรงเรือนที่สามารถป้องกันแดด ลม ฝน และพาหะนำเชื้อโรคระบาดได้
7. ขึ้นทะเบียนเป็ดไล่ทุ่งและจำกัดพื้นที่การเลี้ยงให้อยู่ภายในตำบลหรืออำเภอเดียวพร้อมทั้งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระตรวจทุกฝูง ปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์ม
8. ประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกอพยพและนกธรรมชาติและเก็บตัวอย่างอุจจาระ ซาก ตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในแหล่งสร้างรัง วางไข่ (colony) ปีละ 4 ครั้ง นอกจากนี้มีการสำรวจเส้นทางบินของนกเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนเฝ้าระวังโรค
9. ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกร่วมกัน
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีฝนตกชุก ทำให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดลงอันอาจเป็นผลให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงโรคไข้หวัดนกได้ง่ายขึ้น ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝนลมและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์ 08-566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก www.dld.go.th/dcontrol
..........................................................

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“การสร้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานรวมทั้งฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองได้”

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมเกษตรกร“การสร้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานรวมทั้งฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองได้”
ของจังหวัดเชียงใหม่  ปีงบประมาณ ๒๕๕๕  จำนวนเกษตรผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น ๒๐ ราย

กรมปศุสัตว์แจงโรคเฮโมฯ หรือโรคคอบวมในโค กระบือ ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียหรือโรคคอบวมสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนในโค กระบืออายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดซ้ำทุกๆ ปี เพื่อลดอัตราการสูญเสียปศุสัตว์จากโรคนี้ และขอความร่วมมือเกษตรกรสังเกตอาการของปศุสัตว์ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทันที ที่มีข่าวกระบือป่วยตายในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พบกระบือแสดงอาการไข้สูง น้ำลายไหล ตัวแข็ง จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะมีสาเหตุมาจากโรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ และยังสามารถพบโคป่วยด้วยโรคนี้ได้ แต่จะไม่แสดงอาการรุนแรงในโคเท่ากระบือ แม้ว่าโรคนี้จะไม่นำโรคมาสู่คน แต่ก็สามารถแพร่เชื้อสร้างความเสียหายให้กับปศุสัตว์อื่นๆ ได้ กรมปศุสัตว์จึงเข้าควบคุม ป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยดำเนินการดังนี้
  1. เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเพาะเชื้อ และทดสอบยาที่มีความไวต่อการรักษา
  2. ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว หรือเขตสงสัยโรคระบาด เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยและสัตว์ในพื้นที่
  3. ทำบันทึกสั่งกักสัตว์ป่วยและแยกสัตว์ร่วมฝูงออกจากสัตว์ป่วย
  4. รักษาสัตว์ป่วย โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ และรักษาตามอาการ โดยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อที่ได้จากการเพาะเชื้อตัวอย่างที่เก็บในการระบาดครั้งนี้
  5. สำหรับสัตว์ร่วมฝูงจะฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมเชื้อโรคในตัวสัตว์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลังจากที่ได้ฉีดยาปฏิชีวนะไปแล้ว
  6. กรณีสัตว์ตาย ให้ควบคุมการฝังซากให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมปศุสัตว์
  7. พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกวันในบริเวณคอกและโรงเรือน รวมทั้งทำลายเชื้อโรคที่เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์ต่างๆภายในโรงเรือน และงดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออก บริเวณจุดเกิดโรค
  8. ดำเนินการควบคุมโรคในสัตว์ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ถึง 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค
  9. ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับโรคคอบวมและวิธีป้องกันโรค
ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ย้ำว่า โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ปกติ โดยสัตว์จะไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีภาวะที่ทำให้สัตว์เครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้นฤดูฝน มีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางสิ่งขับถ่ายต่างๆ และปนเปื้อนในอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นสัมผัสเชื้อ ทำให้สัตว์ป่วยและเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว จึงขอให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวมให้กับกระบือ และโค ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 1 ปี และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเรื่องโรคและแนวทางการป้องกันโรคสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 085-6609906