วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“การสร้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานรวมทั้งฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองได้”

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมเกษตรกร“การสร้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานรวมทั้งฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองได้”
ของจังหวัดเชียงใหม่  ปีงบประมาณ ๒๕๕๕  จำนวนเกษตรผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น ๒๐ ราย

กรมปศุสัตว์แจงโรคเฮโมฯ หรือโรคคอบวมในโค กระบือ ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียหรือโรคคอบวมสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนในโค กระบืออายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดซ้ำทุกๆ ปี เพื่อลดอัตราการสูญเสียปศุสัตว์จากโรคนี้ และขอความร่วมมือเกษตรกรสังเกตอาการของปศุสัตว์ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทันที ที่มีข่าวกระบือป่วยตายในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พบกระบือแสดงอาการไข้สูง น้ำลายไหล ตัวแข็ง จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะมีสาเหตุมาจากโรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ และยังสามารถพบโคป่วยด้วยโรคนี้ได้ แต่จะไม่แสดงอาการรุนแรงในโคเท่ากระบือ แม้ว่าโรคนี้จะไม่นำโรคมาสู่คน แต่ก็สามารถแพร่เชื้อสร้างความเสียหายให้กับปศุสัตว์อื่นๆ ได้ กรมปศุสัตว์จึงเข้าควบคุม ป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยดำเนินการดังนี้
  1. เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเพาะเชื้อ และทดสอบยาที่มีความไวต่อการรักษา
  2. ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว หรือเขตสงสัยโรคระบาด เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยและสัตว์ในพื้นที่
  3. ทำบันทึกสั่งกักสัตว์ป่วยและแยกสัตว์ร่วมฝูงออกจากสัตว์ป่วย
  4. รักษาสัตว์ป่วย โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ และรักษาตามอาการ โดยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อที่ได้จากการเพาะเชื้อตัวอย่างที่เก็บในการระบาดครั้งนี้
  5. สำหรับสัตว์ร่วมฝูงจะฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมเชื้อโรคในตัวสัตว์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลังจากที่ได้ฉีดยาปฏิชีวนะไปแล้ว
  6. กรณีสัตว์ตาย ให้ควบคุมการฝังซากให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมปศุสัตว์
  7. พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกวันในบริเวณคอกและโรงเรือน รวมทั้งทำลายเชื้อโรคที่เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์ต่างๆภายในโรงเรือน และงดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออก บริเวณจุดเกิดโรค
  8. ดำเนินการควบคุมโรคในสัตว์ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ถึง 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค
  9. ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับโรคคอบวมและวิธีป้องกันโรค
ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ย้ำว่า โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ปกติ โดยสัตว์จะไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีภาวะที่ทำให้สัตว์เครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้นฤดูฝน มีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางสิ่งขับถ่ายต่างๆ และปนเปื้อนในอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นสัมผัสเชื้อ ทำให้สัตว์ป่วยและเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว จึงขอให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวมให้กับกระบือ และโค ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 1 ปี และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเรื่องโรคและแนวทางการป้องกันโรคสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 085-6609906