วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มาตรการป้องกันโรคในตลาดค้าสัตว์

     ด้วยปัจจุบันพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย(Foot and Mouth Disease)ในโค-กระบือ หลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคและเชื้อที่ปนเปื้อนมากับรถพ่อค้าสัตว์ที่ตระเวนรับซื้อสัตว์ในพื้นที่รวมถึงตลาดนัดค้าสัตว์
     ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ จึงให้ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
     ๑.มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ก่อนที่จะออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ให้มีการตรวจหารอยโรคในโค-กระบืออย่างละเอียด โดยเน้นวิการแผลที่บริเวณปากและไรกีบ หากพบวิการให้ทำการสั่งกักสัตว์และห้ามเคลื่อนย้าย
     ๒.มาตรการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ให้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะที่บรรทุกสัตว์ให้ชุ่มทั้งตัวรถและล้อรถ
     ๓.ผู้ที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการ และนำสัตว์ที่เป็นโรคหรือมีวิการเข้าไปซื้อ-ขายในตลาดนัดค้าสัตว์ ต้องถูกดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๘
     ๔.มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อย สัตว์ทุกตัวที่จะนำไปซื้อ-ขายในตลาดนัดค้าสัตว์จะต้องทำวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย หรือมีใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรค อย่างน้อย ๑๐ วัน และไม่เกิน ๖ เดือน
สภาพอากาศแปรปรวน หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยง
นายสมชาย ประเสริฐชีวะ ปศุสัตว์อำเภอพร้าว ได้กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศแปรปรวน ในช่วงเวลากลางวันมีอากาศร้อนจัด และในบางวันมีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ อาจทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียดได้ ส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของสัตว์ปีกต่ำ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และสามารถแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีก เช่นโรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์สัตว์ปีก และโรคระบาดสัตว์ปีกอื่นๆ เกษตรกรจึงควรหมั่นสังเกตอาการ และเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด

                        เกษตรกรควรเตรียมรับมือ หมั่นสังเกตสุขภาพของสัตว์ปีก ควรเสริมวิตามิน เกลือแร่ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่ของสัตว์ปีกให้เหมาะสม เช่น อย่าให้ลมโกรก ให้อยู่ในที่อุณหภูมิพอเหมาะ จัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกที่มีรั้วปิดมิดชิด สามารถนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝน ลมและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอีกด้วย และต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ ( Biosecurity) ในการป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม เช่น การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคนหรือยานพาหนะเข้า – ออกฟาร์ม การมีเล้าหรือโรงเรือนเพื่อป้องกันพาหะนำโรค เป็นต้น และให้ทำวัคซีนตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด

                      หากเกษตรกรพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สัตว์ปีกมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หน้าบวม น้ำตาไหล อาการทางระบบประสาท เช่น คอบิด ชักเกร็ง และอาการอื่นๆเช่น ท้องเสีย ขนยุ่ง ซึม ไม่กินอาหาร ไข่ลด ไข่รูปร่างผิดปกติ หงอน เหนียงสีคล้ำ หรือหน้าแข็งมี  จุดเลือดออก ให้รีบแจ้งอาสาปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบ สอบสวนโรค และควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างทันท่วงที อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้ทำการฝังหรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพร้าว หรือ โทรศัพท์ 086-195-2082

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ขอเชิญแต่งกายชุดสีดำ ถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช

ขอเชิญแต่งกายชุดสีดำ
ถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช
--------------------------------
ตามที่รัฐบาลเชิญชวนข้าราชการ พนักงานของรัฐ ภาคเอกชน ประชาชน พุทธศาสนิกชนร่วมกันถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ด้วยการแต่งกายชุดสีดำ เนื่องในวันพระราชทานเพลิงศพ 
วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ โดยพร้อมเพรียงกัน

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรมปศุสัตว์คุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั่วประเทศ

อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทุกพื้นที่ ยืนยันไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย พร้อมแนะเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีก จัดเล้า โรงเรือนสามารถป้องกันแดด ลม ฝน ตลอดจนพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทุกพื้นที่ ยืนยันไม่พบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย พร้อมแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีฝนตกชุก ทำให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดลงอันอาจเป็นผลให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงโรคไข้หวัดนกได้ง่ายขึ้น ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝนลมและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยต่ออีกว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเม็กซิโก จีน และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศอินโดนีเซีย นั้น กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์ภาวะโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมีการเฝ้าระวังค้นหาโรคในประเทศไทย โดยตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกผู้เลี้ยงสัตว์ทุกครัวเรือน ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 นี้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ตั้งแต่มกราคม 2555 ปัจจุบัน มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกจำนวน 12 ประเทศ คือ เนปาล เวียดนาม ไต้หวัน กัมพูชา จีน บังคลาเทศ พม่า ภูฐาน อินเดีย อิสราเอล แอฟริกา และเม็กซิโก สำหรับการเกิดโรคในคนมีรายงานการพบผู้ป่วยด้วย โรคไข้หวัดนกจำนวน 6 ประเทศ คือ เวียดนาม กัมพูชา จีน บังคลาเทศ อียิปต์ และอินโดนีเซียซึ่งพบผู้ป่วยรายล่าสุด สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในประเทศไทยปัจจุบันไม่มีการเกิดโรคไข้หวัดนก เป็นเวลามากกว่า 3 ปี 7 เดือนแล้วนับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังไม่ให้เชื้อโรคไข้หวัดนกเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยดังนี้
1. กำหนดให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการ (x-ray) ปีละ 2 ครั้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองในส่วนท้องถิ่น ในการลงพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกครัวเรือน พร้อมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระสัตว์ปีก(cloacal swab) ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยปัจจุบันมีการดำเนินงานอยู่ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2555 นี้ ทั้งนี้หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจะทำลายโดยวิธีการฝังหรือเผาทันทีโดยไม่ต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. กำหนดให้มีการทำความสะอาด และพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคมของทุกปี โดยเน้นในการดำเนินงานในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่แนวชายแดนโรงฆ่าสัตว์ปีกเป็นต้น
3. ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกระหว่างจังหวัด และระหว่างโซน ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 5 โซน มีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด
4. ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแนวชายแดน เช่น ศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น ตรวจสอบ ตรวจค้นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียดว่ามีการลักลอบนำสัตว์ปีก หรือซากสัตว์ปีกเข้าราชอาณาจักรหรือไม่ หากพบการกระทำผิดให้จับกุมดำเนินคดี ยึดของกลางเพื่อตรวจพิสูจน์ หากพบว่า เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาดให้ทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ต่อไป นอกจากนี้ให้มีการ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือ รถเข็น ตลอดจนการเดินเท้าเข้ามาภายในประเทศ
5. พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในรูปแบบฟาร์มปิดและฟาร์มมาตรฐาน ฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. ปรับระบบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและสัตว์ปีกที่เลี้ยงแบบหลังบ้าน (Back yard) ให้มีเล้าหรือโรงเรือนที่สามารถป้องกันแดด ลม ฝน และพาหะนำเชื้อโรคระบาดได้
7. ขึ้นทะเบียนเป็ดไล่ทุ่งและจำกัดพื้นที่การเลี้ยงให้อยู่ภายในตำบลหรืออำเภอเดียวพร้อมทั้งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระตรวจทุกฝูง ปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์ม
8. ประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกอพยพและนกธรรมชาติและเก็บตัวอย่างอุจจาระ ซาก ตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ในแหล่งสร้างรัง วางไข่ (colony) ปีละ 4 ครั้ง นอกจากนี้มีการสำรวจเส้นทางบินของนกเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนเฝ้าระวังโรค
9. ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกร่วมกัน
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีฝนตกชุก ทำให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดลงอันอาจเป็นผลให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงโรคไข้หวัดนกได้ง่ายขึ้น ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันแดด ฝนลมและพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์ 08-566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก www.dld.go.th/dcontrol
..........................................................

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

“การสร้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานรวมทั้งฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองได้”

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมเกษตรกร“การสร้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานรวมทั้งฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองได้”
ของจังหวัดเชียงใหม่  ปีงบประมาณ ๒๕๕๕  จำนวนเกษตรผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น ๒๐ ราย

กรมปศุสัตว์แจงโรคเฮโมฯ หรือโรคคอบวมในโค กระบือ ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียหรือโรคคอบวมสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนในโค กระบืออายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดซ้ำทุกๆ ปี เพื่อลดอัตราการสูญเสียปศุสัตว์จากโรคนี้ และขอความร่วมมือเกษตรกรสังเกตอาการของปศุสัตว์ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทันที ที่มีข่าวกระบือป่วยตายในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พบกระบือแสดงอาการไข้สูง น้ำลายไหล ตัวแข็ง จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะมีสาเหตุมาจากโรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ และยังสามารถพบโคป่วยด้วยโรคนี้ได้ แต่จะไม่แสดงอาการรุนแรงในโคเท่ากระบือ แม้ว่าโรคนี้จะไม่นำโรคมาสู่คน แต่ก็สามารถแพร่เชื้อสร้างความเสียหายให้กับปศุสัตว์อื่นๆ ได้ กรมปศุสัตว์จึงเข้าควบคุม ป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยดำเนินการดังนี้
  1. เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเพาะเชื้อ และทดสอบยาที่มีความไวต่อการรักษา
  2. ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว หรือเขตสงสัยโรคระบาด เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยและสัตว์ในพื้นที่
  3. ทำบันทึกสั่งกักสัตว์ป่วยและแยกสัตว์ร่วมฝูงออกจากสัตว์ป่วย
  4. รักษาสัตว์ป่วย โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ และรักษาตามอาการ โดยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อที่ได้จากการเพาะเชื้อตัวอย่างที่เก็บในการระบาดครั้งนี้
  5. สำหรับสัตว์ร่วมฝูงจะฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมเชื้อโรคในตัวสัตว์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลังจากที่ได้ฉีดยาปฏิชีวนะไปแล้ว
  6. กรณีสัตว์ตาย ให้ควบคุมการฝังซากให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมปศุสัตว์
  7. พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกวันในบริเวณคอกและโรงเรือน รวมทั้งทำลายเชื้อโรคที่เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์ต่างๆภายในโรงเรือน และงดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออก บริเวณจุดเกิดโรค
  8. ดำเนินการควบคุมโรคในสัตว์ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร ถึง 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค
  9. ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับโรคคอบวมและวิธีป้องกันโรค
ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ย้ำว่า โรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ปกติ โดยสัตว์จะไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีภาวะที่ทำให้สัตว์เครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้นฤดูฝน มีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางสิ่งขับถ่ายต่างๆ และปนเปื้อนในอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นสัมผัสเชื้อ ทำให้สัตว์ป่วยและเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว จึงขอให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอบวมให้กับกระบือ และโค ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 1 ปี และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการสัตว์ที่เลี้ยง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและลดความเสียหายจากโรคระบาด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเรื่องโรคและแนวทางการป้องกันโรคสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 085-6609906

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่



เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2554 สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพร้าวร่วมออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ณ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้บริการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ , รักษาพยาบาลสัตว์   , ผ่าตัดทำหมัน , ถ่ายพยาธิ , ให้คำปรึกษาปัญหาด้านการเลี้ยงสัตว์